วันมาฆบูชา

วันมาฆบูชาสำคัญอย่างไร

วันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา (ภาษาอังกฤษ: Magha Puja หรืออาจเขียนว่า Makha Bucha Day) ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำกลางเดือน 3 หรือประมาณราวเดือน กุมภาพันธ์ แต่หากเป็นปีอธิกมาส (ปีที่มีเดือน 8 สองหน) วันมาฆบูชาจะเลื่อนไปเป็น วันขึ้น 15 ค่ำกลางเดือน 4 หรือ ประมาณเดือนมีนาคม และถือเป็นวันหยุดราชการของประเทศไทย ซึ่งปีนี้ วันมาฆบูชาปีนี้ตรงกับ วันที่ 6 มีนาคม 2566 (วันจันทร์) โดยพุทธศาสนิกชนส่วนมาก นิยมประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชา

ประวัติของวันมาฆบูชา

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวันมาฆบูชา ได้แก่ การที่พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน 1,250 รูปมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยทั้งหมดยังเป็นพระอรหันต์อีกด้วย กล่าวได้ว่าเป็นวันที่มีการประชุมสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพุทธศาสนา หรือที่เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” และเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” (หรือโอวาทปาฏิโมกข์) แก่พระสงฆ์สาวกเป็นครั้งแรก เพื่อวางจุดหมาย หลักการ และวิธีการในการเข้าถึงพระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัททั้งหลาย และให้พระสงฆ์นำไปประพฤติปฏิบัติเพื่อสานต่อให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองต่อไป

  วันมาฆบูชา ย่อมาจากคำว่า “มาฆปุรณมีบูชา” แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน ๓ ถือเป็น “วันจาตุรงคสันนิบาต” แปลว่า การประชุมอันประกอบด้วยองค์ ๔ซึ่งเป็นเหตุการณ์อัศจรรย์เกิดขึ้นพร้อมกันในสมัยพุทธกาล 

จาตุรงคสันนิบาตคืออะไร

วันมาฆบูชา

เหตุการณ์สำคัญในวันเพ็ญเดือน 3 ปีดังกล่าวประกอบไปด้วยเหตุอัศจรรย์ 4 ประการ จึงเรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” โดยคำดังกล่าวมาจากรากศัพท์ จาตุร (สี่) + องค์ (ส่วน) + สันนิบาต (ประชุม) หรือการประชุมด้วยองค์ 4 ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญ 4 ข้อที่เกิดขึ้นพร้อมกันดังนี้

   ๑. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสถานที่จ่างๆ เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ
          ๒. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูปเหล่านี้ ล้วนเป็นพระอรหันต์ และได้รับการบวชจากพระพุทธเจ้าโดยตรง ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา 
          ๓. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ต่างมาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้มีการนัดหมาย
          ๔. วันที่มาประชุม ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันเพ็ญกลางเดือน ๓) เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมเทศนา อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ โอวาทปาติโมกข์

 โอวาทปาติโมกข์

คือ ข้อธรรมย่ออันเป็นหลักหรือหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา ๓ ประการ ได้แก่

๑. ไม่ทำความชั่วทั้งปวง เว้นจากความชั่วด้วยกาย วาจา ใจ 

๒. ทำความดีให้ถึงพร้อม ด้วยกาย วาจา ใจ 

๓. ทำจิตใจให้หมดจดบริสุทธิ์ผ่องใส

กิจกรรมในวันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา

กิจกรรมในวันมาฆบูชา แบ่งออกเป็น 3 อย่าง ได้แก่ พิธีหลวง พิธีราษฎร์ และพิธีสงฆ์

1. พระราชพิธี

สำนักพระราชวังจะมีหมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันมาฆบูชา ออกประกาศให้ทราบโดยทั่วกันทุกปี โดยปกติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จฯ ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลด้วยพระองค์เอง ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่บางปีจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทน

2. พิธีราษฎร์

สถานศึกษา จะพานักเรียนไปประกอบพิธีในวัด ด้วยการนัดหมายให้แต่งกายสุภาพเรียบร้อย นำเครื่องสักการะไปเวียนเทียนในช่วงบ่ายหรือเย็น ส่วนประชาชนนำดอกไม้ ธูป เทียน ไปเวียนเทียนกันที่วัดในช่วงเย็น หรือช่วงค่ำ หลังจากฟังโอวาทเสร็จแล้วจะร่วมกันเดินเวียนเทียนรอบโบสถ์

วันมาฆบูชา

บทสวดมนต์ที่พระสงฆ์นิยมสวดในวันมาฆบูชาก่อนทำการเวียนเทียน

  1. บทบูชาพระรัตนตรัย (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อรหัง สัมมา ฯลฯ)
  2. บทนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า (นะโม ฯลฯ ๓ จบ)
  3. บทสรรเสริญพระพุทธคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อิติปิโส ฯลฯ)
  4. บทสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:องค์ใดพระสัมพุทธ ฯลฯ)
  5. บทสรรเสริญพระธรรมคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สวากขาโต ฯลฯ)
  6. บทสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:ธรรมมะคือ คุณากร ฯลฯ)
  7. บทสรรเสริญพระสังฆคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สุปฏิปันโน ฯลฯ)
  8. บทสรรเสริญพระสังฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:สงฆ์ใดสาวกศาสดา ฯลฯ)
  9. บทสวดบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อัชชายัง ฯลฯ)

จากนั้นจุดธูปเทียนและถือดอกไม้เป็นเครื่องสักการบูชาในมือ แล้วเดินเวียนรอบปูชนียสถาน 3 รอบ โดยขณะที่เดินนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบทอิติปิโส (รอบที่หนึ่ง) ระลึกถึงพระธรรมคุณ ด้วยการสวดสวากขาโต (รอบที่สอง) และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวดสุปะฏิปันโน (รอบที่สาม) จนกว่าจะเวียนจบ 3 รอบ จากนั้นนำธูปเทียนดอกไม้ไปบูชาตามปูชนียสถานจึงเป็นอันเสร็จพิธี

3. พิธีสงฆ์

พระสงค์จะเป็นผู้นำประกอบพิธีต่างๆ ให้โอวาท สวดมนต์ แสดงธรรมและประวัติความเป็นมาของวันมาฆบูชา และเจริญสมาธิภาวนา

ในวันมาฆบูชาช่วงเย็นถึงค่ำจะมีการเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ โดยเริ่มจากพระสงฆ์ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ประชาชนทั่วไป กระทำ 3 รอบ ด้วยการเวียนทางขวาเรียกว่า เวียนแบบทักขิณาวัฏ

  •  รอบที่ 1 ให้รำลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า โดยภาวนาคาถา บทอิติปิโส ภควาฯ ไปจนจบ เพื่อให้จิตใจมีสมาธิ
  •  รอบที่ 2 ให้รำลึกถึงคุณพระธรรม โดยภาวนาคาถา บทสวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโมฯ ไปจนจบ
  •  รอบที่ 3 ให้รำลึกถึงคุณพระสงฆ์ โดยภาวนาคาถา บทสุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆฯ ไปจนจบ

ประวัติและความเป็นมาวันมาฆบูชาเพิ่มเติมได้ที่นี้

Similar Posts