แนะนำ10 วัด วันมาฆบูชา ไหว้พระขอพรที่ไหนดี

วันมาฆบูชา เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็นวันที่มีเหตุการณ์อัศจรรย์เกิดขึ้นคือ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมิได้นัดหมายกันพระสงฆ์ และทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ในวันนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นทั้งหลักการอุดมการณ์และวิธีการปฏิบัติที่ นำไปใช้ได้ทุกสังคม มีเนื้อหา โดยสรุปคือให้ละความชั่วทุกชนิด ทำความดี ให้ถึงพร้อมและทำจิตใจให้ผ่องใส วันมาฆบูชาปีนี้ตรงกับ วันที่ 6 มีนาคม 2566 (วันจันทร์) โดยพุทธศาสนิกชนส่วนมาก นิยมประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้นจึงเป็นโอกาสที่ดีที่แอดมินจะมาแนะนำวัดทั้ง10วัดที่เหมาะกับการไปไหว้พระขอพรเพื่อเสริมสิริมงคลในชีวิตของท่าน จะมีวัดไหนบ้างติดตามอ่านข้างล่างได้เลย
1. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร

วัดพระแก้ว หรือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นวัดหลวงที่สำคัญในพระราชพิธีต่างๆ ที่สร้างขึ้นในพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ในปี พ.ศ.2325 สมัยรัชกาลที่ 1 ค่ะ โดยเป็นวัดในพระบรมมหาราชวังเช่นเดียวกับ วัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นวัดในพระราชวังหลวงในสมัยกรุงศรีอยุธยานั่นเอง
นอกจากนี้ ภายในวัดยังประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต ที่อัญเชิญมาจากอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ หรือ ประเทศลาวในอดีต นั่นเอง
ที่ตั้ง: ถนน หน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
2. วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร

วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร หรือ วัดสระเกศ หรือที่เรียกกันว่า วัดภูเขาทอง เป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา เมื่อก่อนนั้นมีชื่อว่า วัดสะแก ต่อมาในหลวงรัชกาลที่ 1 โปรดให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามให้ใหม่ว่า วัดสระเกศ ที่แปลว่า ชำระพระเกศา นั่นเองค่ะ เพราะวัดนี้เคยเป็นที่สำหรับทำพิธีพระกระยาสนาน (อาบน้ำ) เมื่อตอนเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติในปี พ.ศ. 2325 ภายในวัดจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เราได้ไปสักการะกันตั้งแต่เข้ามาในวัดเลย เราก็จะเจอกับ พระอุโบสถที่ประดิษฐานพระประธานปางสมาธิองค์ใหญ่ ผนังรอบๆ พระอุโบสถจะมีภาพจิตรกรรมที่เกี่ยวกับเทวดา ท้าวจตุโลกบาล ภาพพุทธประวัติตอนมารวิชัย ภาพทศชาติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และ ภาพไตรภูมิ เป็นความสวยงามที่มองแล้วรู้สึกอิ่มเอง สบายใจมาก
ที่ตั้ง: 344 ถนนจักรพรรดิพงษ์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100
3. นมัสการรอยพระบาทพลวง เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี

อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ เขาคิชฌกูฏ ตั้งอยู่ในจังหวัดจันทบุรี ด้วยสภาพป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ทั้งป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา และป่าไม้ผลัดใบ มีสมุนไพรและกล้วยไม้ป่านานาชนิด ถูกใจสายบุญในทุกปี กับการเดินทางขึ้นเขากว่า 10 กิโลเมตร เพื่อไปร่วมงานประเพณี นมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ (พระบาทหลวง) อันเก่าแก่ด้วยใจศรัทธา ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว เขาคิชฌกูฏจะเปิดให้นักท่องเที่ยว จากทั่วทุกสารทิศ เข้าไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้านบนยอดเขา เพียงแค่ปีละครั้งเท่านั้น ระยะเวลาในการเปิดเพียง 3 เดือน หากใครพลาดโอกาสครั้งนั้น ก็จำเป็นต้องรอเดินทางไปร่วมงานใหม่อีกครั้งในปีหน้า
ที่ตั้ง: ตำบล ชากไทย อำเภอ เขาคิชฌกูฏ จันทบุรี 22210
4. วัดม่วง จังหวัดอ่างทอง

วัดม่วง ตั้งอยู่ที่ ตำบลหัวสะพาน อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ประดิษฐาน พระพุทธมหานวมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ ที่ก่อสร้างจากคานคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นชั้นๆ ขึ้นไป แบบโครงสร้างตึก สูงราว 32 ชั้น เลยทีเดียวค่ะ ที่ก่ออิฐถือปูนฉาบทาสีทองตลอดทั้งองค์ นับว่าเป็นอาจจะเป็น พระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในส่วนของโบสถ์ วัดม่วง นั้น ก็มีความงดงามใหญ่โตไม่ต่างจากพระพุทธรูปองค์ใหญ่เลย เพราะจะมีความสวยแปลกตา ด้วยการทำกลีบบัวปูนปั้นล้อมรอบที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภายในโบสถ์จะมีภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับประวัติพระพุทธเจ้า ส่วนบริเวณรอบๆ วัด ก็จะมีปูนปั้นพระอรหันต์ เทพเจ้าต่างๆ ไม่ว่าจะจีนหรือพราหมณ์ ที่สำคัญยังมีการจำลองเมืองนรกสวรรค์ เพื่อสอดแทรกคติสอนใจ และเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ของค่ายบางระจัน ให้กับนักท่องเที่ยวได้ชมอีกด้วย
ที่ตั้ง: 19 ตำบล หัวตะพาน อำเภอ วิเศษชัยชาญ อ่างทอง 14110
5. วัดพราหมณี จังหวัดนครนายก

วัดหลวงพ่อปากแดง หรือ วัดพราหมณี ตั้งอยู่ที่ตำบลสาริกา เป็นอีกหนึ่งวัดเก่าแก่ วัดสำคัญ วัดดัง ในจังหวัด นครนายก วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๖ ปัจจุบันอายุมากกว่า ๑๐๐ ปี
วัดพราหมณี มีพระประธานศักดิ์สิทธิ์ เป็นศิบปะสมัยล้านช้าง ทรวเครื่องดอกพิกุล พระโอษฐ์แย้มและมีสีแดงเห็นได้ชัด ชาวบ้านจึงเรียกว่า หลวงพ่อปากแดง
บริเวณหน้าวัด รวมถึงหน้าอุโบสถ ทางวัดจัดเป็นเหมือนตลาดนัด ให้ชาวบ้านได้มาค้าขาย มีทั้ง อาหาร ผัก ผลไม้ เสื้อผ้า ของฝาก เป็นต้น
รวมถึงทางข้างหลังของวัด จะมี เรือโบราณ ให้นักท่องเที่ยวผู้ที่เดินทางมาที่วัด ได้ชม รวมถึงมีพื้นที่สามารถให้อาหารปลาบริเวณ ลำคลองคล้อ ทางด้านหลังของวัด
ที่ตั้ง: หมู่ที่ 5 95 ตำบล บ้านใหญ่ อำเภอเมืองนครนายก นครนายก 26000
6. วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา

วัดโสธรวรารามวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองฉะเชิงเทรา เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโสธร พระพุทธรูปอันเป็นที่เคารพสักการะของชาวแปดริ้ว และประชาชนทั่วทุกสารทิศ มาแต่อดีตกาล ตั้งอยู่บนถนนห่างจากตลาดกลางเมืองประมาณ 2 กิโลเมตร วัดนี้แต่เดิมเป็นวัดราษฎร์ สร้างขึ้นตอนปลายของกรุงศรีอยุธยา ตามประวัตินั้นแต่แรก มีชื่อว่า “วัดหงษ์” เพราะมี “เสาหงส์” อยู่ในวัด เป็นเสาสูงมียอดเป็นตัวหงส์อยู่บนปลายเสา ต่อมาหงส์บนยอดเสาหักตกลงมาเหลือแต่เสา และมีผู้เอาธงขึ้นไปแขวนแทน จึงได้ชื่อว่า “วัดเสาธง” ครั้นเมื่อเสาธงหักเป็นสองท่อน จึงเรียกชื่อใหม่ว่า “วัดเสาธงทอน” ส่วนชื่อ “วัดโสธร” อันมีความหมายว่า “บริสุทธิ์” และ “ศักดิ์สิทธิ์” นั้น เรียกตามพระนามของ พระพุทธโสธร หรือหลวงพ่อโสธรซึ่งได้มาประดิษฐานในวัดนี้ ในภายหลังวัดโสธรได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร มีนามว่า “วัดโสธรวรารามวรวิหาร” เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2501
ที่ตั้ง: 134 ถนน เทพคุณากร ตำบล หน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ฉะเชิงเทรา 24000
7. พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

พุทธมณฑล สร้างขึ้นในวาระฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้พระพุทธศาสนา เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ และยังมีพระไตรปิฎกหินอ่อนด้วย
พุทธมณฑล เป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา อยู่ในตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มีเนื้อที่ 2,500 ไร่ สร้างขึ้นเพื่อฉลองวาระกึ่งพุทธกาล เมื่อ พ.ศ. 2500 มีพระพุทธรูปปางลีลาประจำพุทธมณฑล เรียกว่า พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ ออกแบบโดย ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี พระพุทธรูปนี้มีความโดดเด่นทางผ้าจีวรที่พลิ้วเหมือนจริง พระพุทธรูปนี้สร้างเสร็จและฉลอง เมื่อ พ.ศ. 2525 คราวพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
ที่ตั้ง: 25 หมู่ที่ 6 ถนน พุทธมณฑลสาย 4 ตำบล ศาลายา อำเภอพุทธมณฑล นครปฐม 73170
8. เวียนเทียนกลางน้ำ ณ กว๊านพะเยา

กิจกรรม “เวียนเทียนทางน้ำ กลางกว๊านพะเยา” ปีหนึ่งจะจัดขึ้นเพียง 3 ครั้งเท่านั้น คือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา เมื่อพระอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้าผู้คนจะนำดอกไม้ธูปเทียน จุดไฟสว่างไสว ล่องเรือไปเวียนเทียนบูชาองค์พระปฏิมากลางแม่น้ำ 3 รอบ โดยกิจกรรมจะเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าเวลา 06.00 น. เป็นพิธีทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งพระสงฆ์ จำนวน 109 รูป ณ บริเวณท่าเรือวัดติโลกอาราม จากนั้น เวลา 08.00 น. ชมขบวนแห่ข้าวใหม่ใส่บาตรหลวงทางน้ำในกว๊านพะเยา จากท่าเรือวัดติโลกอาราม ผ่านหน้าเรือนโบราณ อนุสาวรีย์พญางำเมือง และเข้าสู่ท่าน้ำวัดศรีโคมคำ ประกอบพิธีถวายข้าวทิพย์พระเจ้าตนหลวง ณ วัดศรีโคมคำ
สำหรับในช่วงค่ำ ตั้งแต่เวลา 16.30 น. เป็นกิจกรรมเวียนเทียนทางน้ำรอบวัดติโลกอารามกลางกว๊านพะเยา ซึ่งมีพระพุทธรูปหินทราย หลวงพ่อศิลา อายุกว่า 500 ปีประดิษฐานประจำวัดติโลกอาราม สักการะพร้อมชมศิลปะการแสดงทางวัฒนธรรม
ที่ตั้ง: พุทธสถานวัดกลางกว๊าน ตำบล แม่ใส อ.เมือง พะเยา 56000
9. วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นศาสนสถานสำคัญทางพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทลังกาวงศ์ บนคาบสมุทรมลายู ตั้งอยู่บนสันทรายโบราณนครศรีธรรมราชซึ่งเรียกว่า “หาดทรายแก้ว” อันเป็นเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชปัจจุบัน มีพัฒนาการจากสถานีการค้าทางทะเลตั้งแต่สมัยแรกเริ่มบนคาบสมุทรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อว่า “ตามพรลิงค์” หรือ “กะมะลิง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่มีชื่อว่า “สุวรรณภูมิ” ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 6 เป็นต้นมา
สถานีการค้าชื่อ “ตามพรลิงค์” หรือ “กะมะลิง” พัฒนาขึ้นโดยลำดับ จนขึ้นเป็นรัฐในพุทธศตวรรษที่ 10 ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 13-16 รัฐนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสมาพันธรัฐ “ศรีวิชัย” ซึ่งมีวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเป็นหลัก และเป็นที่รู้จักกว้างขวางในเครือข่ายของโลกการค้าทางทะเลบนคาบสมุทรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ที่ตั้ง: 435 ถ. ราชดำเนิน ตำบล ในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช นครศรีธรรมราช 80000
10. วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า วัดพระสิงห์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นเมือปี พ.ศ. 1888 โดย พญาผายู กษัตริย์เชียงใหม่องค์ที่ 5 ของราชวงศ์มังราย เพื่อบรรจุพระอัฐิของ พญาคำฟู พระราชบิดาของพระองค์ แต่เดิม วัดนี้มีชื่อว่า วัดลีเชียงพระ เพราะคำว่า “ลี” ในภาษาล้านนาแปลว่า “ตลาด” และด้านหน้าวัดก็เป็นชุมชนซึ่งมี ตลาดลีเชียงพระ ให้ชาวบ้านทำมาค้าขาย จึงเป็นที่มาของชื่อในสมัยนั้น
แต่แล้วเมื่อปี พ.ศ. 1943 พญาแสนเมืองมา ได้อัญเชิญ พระพุทธสิหิงค์ หรือ พระสิงห์ พระพุทธรูปเก่าแก่ศักดิ์สิทธิ์มาประดิษฐานไว้ที่ วัดลีเชียงพระ แห่งนี้ จึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็น วัดพระสิงห์ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2483 ในรัชสมัยของ รัชกาลที่ 8 วัดพระสิงห์แห่งนี้ก็ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ยกฐานะขึ้นเป็น พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิด วรมหาวิหาร เป็น วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ที่ตั้ง: 2 ถนน สามล้าน ตำบล พระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่ 50280
อ่านวันสำคัญอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้ที่: วันมาฆบูชาสำคัญอย่างไร