เปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ ทำไมจึงเเพงถึง33ล้าน

ในสังคมตอนนี้มีการถกเถียงกันเรื่องการเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็น ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ซึ่งเป็นชื่อพระราชทานและตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยนั้น มีการใช้งบประมาณกว่า 33 ล้านบาทนั้นแพงเกินไปหรือไม่ การรถไฟแห่งประเทศไทย ขอชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง หลังจากยังมีผู้ที่แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อโซเชียลมีเดียคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงในหลายประเด็น ดังนี้
ด้านการรถไฟแห่งประเทศไทย
การรถไฟแห่งประเทศไทย ขอชี้แจงว่าการทำโครงการในส่วนการกำหนดราคากลาง การรถไฟฯ ได้มีการดำเนินการ ผ่านการตั้ง คณะกรรมการจัดทำร่างขอบเขตของงานและราคากลาง ตามคำสั่งเฉพาะที่ ก.812/2565 ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2565 โดยมีการพิจารณารายละเอียดของการประมาณการที่เกี่ยวข้องกับชนิด จำนวน ปริมาณ รายการพัสดุ วัสดุต่างๆ ค่าแรง ที่ต้องนำมาใช้ในการคำนวณที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้าง ตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นไปตามราคากลางและระเบียบของกรมบัญชีกลาง คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) เป็นเงิน 33,169,726.39 บาท ราคาดังกล่าว ได้รวมยอดเงินเผื่อจ่าย (Provisional Sum) เป็นเงิน 1,627,662.60 บาท
ซึ่งยอดเงินเผื่อจ่ายกำหนดไว้ว่าจะจ่ายให้ก็ต่อเมื่อผู้ว่าจ้างสั่งให้ดำเนินการ สำหรับงานติดตั้งและรื้อถอนวัสดุปิดแทนผนังกระจก เช่น แผ่นผนังอะคริลิกใส เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้ลมหรือฝนสาดเข้าตัวอาคารสถานี ระหว่างที่รอการผลิตและติดตั้งผนังกระจกใหม่
อีกทั้งยังมีกระบวนการกำหนดขอบเขตงาน ทางคณะกรรมการจัดทำร่างขอบเขตของงานและราคากลางของโครงการฯ ได้กำหนดขอบเขตของงานที่หลากหลาย ไม่ได้มีเพียงแค่การเปลี่ยนป้ายชื่อเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการจัดทำระบบไฟ งานรื้อถอน ที่มีความละเอียดอ่อนและต้องปรับปรุงอย่างระมัดระวัง รวมถึงมีการรับประกันความชำรุดบกพร่อง เพื่อให้โครงการเกิดความรอบคอบ
ด้านนายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์

ด้านนายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล กล่าวว่า คำถามของตนสั้นมาก ถามว่า ราคา 33 ล้านบาทแพงเกินไปหรือไม่ ประชาชนคิดว่าแพง แต่รัฐมนตรีตอบไม่ตรงคำถาม อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้รัฐมนตรีพุ่งเป้าการตรวจสอบไปที่ รฟท. เพียงอย่างเดียว เพราะปิศาจมักซ่อนอยู่ในรายละเอียด หากย้อนไปเมื่อเดือนมกราคม 2563 ผู้รับเหมาคือบริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งร่วมกับบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ติดตั้งป้ายสถานีกลางบางซื่อเสร็จสิ้น ต่อมาเมื่อได้รับพระราชทานชื่อใหม่ รัฐมนตรีก็เร่งรีบให้ รฟท. เปลี่ยนป้าย จึงใช้วิธีเฉพาะเจาะจง กำหนดราคากลางเสร็จเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว เมื่อประชาชนเห็นราคาที่สูงก็ตั้งคำถาม รัฐมนตรีจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ถือเป็นสูตรสำเร็จในการเอาตัวรอด น่าสงสัยว่า รัฐมนตรีไม่รู้มาก่อนเลยหรือว่าอยากได้ชื่อสถานีใหม่ หรือไม่ว่าอย่างไรก็จะเปลี่ยนชื่อให้ได้โดยไม่สนว่าต้องใช้เงินภาษีประชาชนเท่าไร จึงขอตั้งคำถามที่สองต่อว่า ทำไมต้องเปลี่ยนชื่อสถานี
“รัฐมนตรีทราบหรือไม่ ว่ามีป้ายเล็กป้ายน้อยอีกเท่าไรที่ต้องเปลี่ยนชื่อตาม ทั้งหมดต้องใช้เงินเท่าไร พาลจะลำบากไปถึง กทม. ผมคิดว่ารัฐมนตรีใช้เงินมือเติบเกินไป วันนี้ถ้าเอาหน่วยงานราชการของประเทศไทยมาเรียงกัน การรถไฟฯ น่าจะยาจกที่สุด เพราะขาดทุนต่อเนื่องทุกปีเป็นแสนล้าน แต่กลับใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายแบบนี้” นายจิรัฏฐ์ กล่าว
จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล และ บอส – ธนันท์ บูรณพงศ์ เพจ LivingPop
พูดคุยเกี่ยวกับประเด็น ป้ายสถานีราคา 33 ล้านบาท จำเป็นไหมที่ต้องเปลี่ยน?
ด้านศักดิ์สยาม ชิดชอบ

ส่วนทางด้าน ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมไม่มีอะไรต้องปกปิด ขอให้รอผลการตรวจสอบ เมื่อผลออกมาจะรายงานให้ประชาชนทราบแน่นอน การเปลี่ยนชื่อนั้น เป็นประเพณีปฏิบัติ ไม่ใช่ความต้องการของตน สถานที่สำคัญของราชการหลายแห่งก็ทำแบบนี้ เป็นเรื่องปกติ ส่วนประเด็นราคาถูกหรือราคาแพง ตนไม่ยืนยัน เพราะไม่ใช่คนกำหนดราคา และเรื่องคดีความที่ว่า จนถึงตอนนี้คดียังไม่ถึงที่สุด ยังมีการต่อสู้อยู่ ต้องมีการอุทธรณ์ต่อไป
สามารถอ่านรายละเอียดข่าวเพิ่มเติมได้ที่ : การรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย